เครื่องช่วยฟังดิจิทัล

pdi-02-package3

เครื่องช่วยฟังดิจิทัล มิติใหม่ของคน “หูหนวก”

ภาวะสูญเสียการได้ยิน ยังคงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ หากดูจากสถิติปี พ.ศ. 2547 จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีประชากรที่สูญเสียการได้ยินในระดับ 65 เดซิเบล กว่า 636,151 คน นับเป็นความพิการอันดับ 2 รองจาก ความพิการทางหู หรือ หูหนวก ซึ่งพบมากถึง 3 ล้านราย โดยปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนไทยเท่านั้น เพราะสถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากรทั่วโลกกว่า 250-300 ล้านคน อยู่ในข่ายมีปัญหาทางการได้ยิน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลความพิการทางการได้ยิน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยแต่กลับถูกละเลย เนื่องจากเป็นภาวะซ้อนเร้นที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ทำให้แนวโน้มของผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้จากผลการสำรวจสุขภาพของคนไทยจากการตรวจร่างกาย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551-2552 โดยประชากร มากกว่าร้อยละ 10 สูญเสียการได้ยินในระดับที่ต่างกันไป ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้นทันทีที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้ สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ในทางการแพทย์ ปัญหาทางการได้ยินสามารถแก้ไขได้โดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยขยายเสียง หรือเครื่องช่วยฟัง (Hearing aids) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ใช้เพิ่มความสามารถทางการได้ยิน เสียงของผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ โดยทำหน้าที่ปรุงแต่งสัญญาณเสียงตามอัลกอริทึ่มที่กำหนด โดยผู้พิการมีสิทธิ์ได้รับการรักษา และได้รับเครื่องช่วยฟังฟรีจากนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน การเข้าถึงเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟัง กลับเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากการใส่เครื่องช่วยฟังต้องอาศัยการควบคุมจากนักแก้ไขการได้ยิน ซึ่งทำหน้าที่ประเมินและทดลองปรับแต่งเครื่องช่วยฟังให้เหมาะสมกับผู้ป่วย แต่ละคน ซึ่งมีระดับการสูญเสียที่ต่างกัน
ขั้นตอนดังกล่าวยุ่งยากและใช้เวลานาน อีกทั้งเครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ถ่านที่ใช้มีความเฉพาะ หาซื้อยาก และมีราคาแพง ทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังจึงเป็นไปอย่างจำกัด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยการได้ยินระดับอุตสาหกรรม” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่ง ชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท ไอเมด ลาบอราทอรี่ จำกัด
โครงการดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 นำโดย “พศิน อิศรเสนา ณ อยุธยา” นักวิจัยจากสถาบันวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่ งอำนวยความสะดวก (REAT) เนคเทค ที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟัง “ดิจิทัล” สำหรับผู้ใช้งานที่มีปัญหาการได้ยิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้พิการทางการได้ยิน ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงมาจากต่างประเทศ
ดร.พันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค บอกว่า โครงการวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโจทย์ แนวคิดในการดูแลผู้สูงวัย และใส่ใจผู้พิการด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของเนคเทค ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการ โดยพัฒนาเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เหมาะสมกับการใช้งาน และที่สำคัญต้องมีราคาถูก ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องนำเข้าอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือคนพิการมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องช่วยฟังนำเข้าที่ราคาไม่ต่ำกว่าเครื่องละ 1 หมื่นบาท ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง จะต้องทำให้ตัวเครื่องมีราคาถูกกว่านำเข้า ในขณะที่ประสิทธิภาพทัดเทียมกับของนำเข้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้
ดังนั้น การวิจัยจึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี การออกแบบตัวเครื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานได้จริง และผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งการพัฒนาเครื่องช่วยฟังที่ได้มาตรฐาน ราคาเหมาะสม ผลิตได้เองได้ในประเทศ และมีค่าบำรุงรักษาต่ำ จะช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน ผู้อำนวยการเนคเทค บอกว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีจากการวิจัยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยราคาไม่สูงจนเกินไปนั้น เป็นจริงได้จากความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยและหน่วยงานพันธมิตรจากภาคเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาด ซึ่งความสำเร็จจากการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ผูัมีรายได้น้อย สามารถเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยฟังดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้สูญเสียการได้ยิน
โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าทุก 100 คน จะมีคนพิการทางการได้ยินประมาณ 4 คน ซึ่งในประเทศไทยนั้นผลสำรวจพบว่า มีคนที่พิการทางการได้ยินราว 400,000 คน ทั้งกลุ่มที่สูญเสียการได้ยินตามวัยซึ่งไม่รุนแรง ไปจนถึงกลุ่มที่สูญเสียการได้ยินขั้นรุนแรง หรือพิการ อีกจำนวนมาก 28% ของผู้สูงอายุมีปัญหาการได้ยิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่เมื่ออายุเกิน 60 ปี คุณภาพการได้ยิน จะลดลง 1 เดซิเบล และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นักวิจัยกล่าว และอธิบายว่าภาวะการสูญเสียการได้ยินเกิดจากการได้ยินที่ลดลง หรือสูญเสียการได้ยินทั้งหมด เนื่องจากประสาทรับเสียงเสีย (Sensorineural Hearing loss) ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด โดยหูทำงานบกพร่อง
  • ความผิดปกติทางกายภาพภายในหู มีของเหลวอยู่ภายในหูชั้นกลาง
  • การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุกระทบกระเทือนกับศีรษะ
  • ผลกระทบจากการเจ็บป่วย ภาวะการติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่น meningitis
  • การฟังเสียงที่ดังอย่างต่อเนื่องผ่านทางหูฟัง
  • อยู่ในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน
ภาวะการสูญเสียการได้ยิน เกิดขึ้นได้หลายลักษณะ เช่น
Conductive hearing loss ภาวะสูญเสียการได้ยินในหูส่วนนอกและกลางจากหลายสาเหตุ เช่น ขี้หูอุดตัน การติดเชื้อ หรือ กรรมพันธุ์ ซึ่งมีผลให้การนำเสียงเข้าสู่หูชั้นในมีประสิทธิภาพด้อยลง แต่เป็นปัญหาที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาหายได้ด้วยการให้ยา และการผ่าตัด
Sensory hearing loss ภาวะสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในหรือ auditory nerve จากความเสื่อมสภาพของ hair cells ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการเปลี่ยนสัญญาณเสียงเป็นไฟฟ้า ซึ่งสาเหตุของการเสื่อมสภาพอาจเป็นแต่กำเนิด หรือเกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยา การได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน และความเสื่อมสภาพที่เกิดขึ้นตามวัย
Neural hearing loss ภาวะสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากเส้นประสาทที่ต่อเชื่อมจาก Cochlea ไปถึงสมองถูกทำลาย ในผู้ป่วยเด็กอาจได้ยินเสียงเพียงบางส่วน หรือได้ยินเสียงทั้งหมด หรืออาจไม่ได้ยินเสียงเลย ปัญหาของการได้ยินเสียงชนิดนี้จะเป็นแบบถาวร และทำให้ความสามารถในการพูดของเด็กลดลง นักวิจัย บอกว่า วิธีการรักษาการภาวะสูญเสียการได้ยินนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง ซึ่งโดยปกติแล้วแพทย์จะรักษาด้วยการให้ยา และการผ่าตัด หรือใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อขยายเสียง ทำให้ได้ยินเสียงที่ชัดขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาและการผ่าตัด
ข้อดีของการใส่เครื่องช่วยฟังคือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการสื่อสาร โดยแพทย์สามารถปรับเครื่องช่วยฟังเพื่อขยายและปรับแต่งสัญญาณเสียงให้เหมาะ สมกับลักษณะภาวะสูญเสียการได้ยินของแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกัน โดยวัดจากระดับการได้ยินโดยปกติค่าเฉลี่ยของการได้ยินเสียงบริสุทธิ์อยู่ใน ช่วงความถี่ 500 , 1000 และ 2,000 เฮิร์ต แต่ในหูข้างที่ผิดปกติ ระดับการได้ยินจะมากกว่า 25 เดซิเบล โดยผู้ที่ได้ยินเสียงที่มากกว่า 40 เดซิเบล ขึ้นไป จัดเป็นผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวสามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องตรวจการได้ยิน (Audiometry) ซึ่งมีเกณฑ์การวัดผล ดังนี้
  • ระดับการได้ยินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 เดซิเบล อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ระดับการได้ยิน 26-40 เดซิเบล ได้ยินเสียงคนพูดเบา อยู่ในเกณฑ์หูตึงเล็กน้อย
  • ระดับการได้ยิน 41-55 เดซิเบล ไม่ได้ยินเสียงคนพูดด้วยความดังปกติ อยู่ในเกณฑ์หูตึงปานกลาง
  • ระดับการได้ยิน 56-70 เดซิเบล ต้องพูดด้วยเสียงดังๆ จึงจะได้ยิน อยู่ในเกณฑ์หูตึงมาก
  • ระดับการได้ยิน 71-90 เดซิเบล ต้องตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงช่วยจึงจะได้ยินเสียง แต่ได้ยินไม่ชัดเจน อยู่ในเกณฑ์หูตึงรุนแรง
  • ระดับการได้ยินมากกว่า 90 เดซิเบล ตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงพูดแล้ว ก็ยังไม่ได้ยิน และไม่เข้าใจคำพูด อยู่ในเกณฑ์หูหนวก
ความบกพร่องทางการได้ยินเป็นปัญหาที่หลบซ่อนอยู่ในการ สื่อสารด้วยภาษาพูด ซึ่งปัญหานั้นอาจเป็นปัญหาที่รุนแรงตามมา โดยการใส่เครื่องช่วยฟังเมื่อตรวจพบความบกพร่องทางการได้ยิน จะทำให้ผู้มีปัญหาการได้ยินสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ แม้เครื่องดังกล่าวจะไม่สามารถรักษาความบกพร่องทางการได้ยินให้กลับมาเป็น ปกติได้
เทคโนโลยีเครื่องช่วยฟัง
แม้ภาวะสูญเสียการได้ยินในระดับต่ำอาจไม่อันตรายถึง ชีวิต แต่ในความเป็นจริงการสูญเสียการได้ยินส่งผลต่อปัญหาในเชิงคุณภาพ การดำรงชีวิตรวมไปถึงสภาพจิตใจ ในกรณีที่ระดับการสูญเสียอยู่ในช่วงเล็กน้อยถึง มาก การแก้ไขการได้ยินอาจทำได้ด้วยการใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อขยายเสียงให้ดัง ขึ้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน หรือได้ยินไม่ชัดเจน จะทำให้รับรู้เสียงได้ดีขึ้น เครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ติดกับหู สามารถถอดใส่ได้อย่างสะดวก โดยทำหน้าที่ช่วยขยาย สัญญาณเสียง ซึ่งนักโสตสัมผัสจะเป็นผู้ทำการปรับแต่งเครื่องช่วยฟังให้มีการขยายเสียงใน ย่านความถี่ต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละคน โดยส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องช่วยฟัง คือ ตัวขยายเสียง (Amplify) ไมโครโฟน (Microphone) และลำโพง (Receiver)
เทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังในปัจจุบันมี 3 ระบบ
เครื่องช่วยฟังระบบธรรมดา (Analog)ใช้ เทคนิคการขยายเสียงที่ไม่ซับซ้อน สามารถขยายเสียงให้ดังขึ้นได้โดยใช้ไขควงปรับแต่งเสียง ซึ่งมีข้อจำกัดคือปรับได้ไม่ละเอียด แต่ด้วยราคาไม่แพง เครื่องช่วยฟังระบบธรรมดาจึงเหมาะกับผู้มีงบประมาณไม่มากนัก
เครื่องช่วยฟังระบบโปรแกรมกึ่งดิจิทัล (Programmable) เป็นวิวัฒนาการขั้นสูงกว่าระบบธรรมดา โดยระบบวงจรเสียงภายในยังคงเป็นแบบธรรมดา (Analog) แต่มีการปรับแต่งเสียงโดยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการปรับจูนเสียง ทำให้สามารถปรับเสียงได้ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น โดยภายในเครื่องมีไมโครชิพเล็กๆ ซึ่งทำหน้าที่บันทึกและจดจำค่าการปรับตั้งเสียงเอาไว้เพื่อให้สะดวกต่อการ ใช้งานมากขึ้น
เครื่องช่วยฟังระบบดิจิทัล (Digital) มีความสามารถในการปรับเสียงแตกต่างกันไปตามเทคโนโลยีของแต่ละรุ่น โดยมีวงจรการขยายเสียงแบบดิจิทัล และภายในเครื่องมีไมโครชิพทำหน้าที่ประมวลผลและปรับตั้งโปรแกรมเสียงเครื่อง ช่วยฟัง สามารถแบ่งช่องการปรับสัญญาณเสียงหลายช่องสัญญาณ ทั้งระบบอนาล็อค ระบบกึ่งดิจิทัล และระบบดิจิทัล
นักวิจัย บอกว่าเครื่องช่วยฟังดิจิทัล เป็นเทคโนโลยีเครื่องช่วงฟังที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน โดยบางรุ่นมีระบบลดเสียงรบกวน และ ระบบประมวลผลที่มีความฉลาดมากขึ้น สามารถในการปรับเสียงได้อย่างละเอียด ตอบสนองความต้องการฟังเสียงของผู้ใช้ได้มากขึ้น

ผลผลิตจากงานวิจัย
เครื่องช่วยฟังในตลาดส่วนมากจะเป็นเครื่องจากต่าง ประเทศ มีราคาสูง ในขณะที่นักปรับแต่งการได้ยินที่มีอยู่จำกัด ทำให้ผู้ประสบปัญหาทางการได้ยินต้องรอคิวปรับแต่งเครื่องให้เหมาะสมกับผู้ ใช้แต่ละคน โจทย์นี้กลายเป็นความท้าทายและโอกาสสำหรับนักวิจัยไทย ในการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังขึ้นเองที่ผ่านมา ทีมวิจัยเนคเทคได้เดินหน้าโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการได้ยิน ในระยะที่ 1 ซึ่งเริ่มต้นจาก บันทึก ความร่วมมือระหว่างเนคเทคและโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องช่วยฟังแบบ Digital BTE ราคาประหยัด ระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อส่งมอบต้นแบบดังกล่าวให้ศูนย์การได้ยินและแก้ไขการพูด โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ นำไปใช้ศึกษาในผู้ใช้งานเพิ่มเติมและนำข้อมูลมาทำการปรับปรุงด้านเทคนิคร่วม กัน อย่างไรก็ตาม ต้นแบบเครื่องช่วยฟังดังกล่าวยังมีความยากในการนำไปผลิตเชิงอุตสาหกรรม อีกทั้งไม่เหมาะกับการใช้งานบางประเภท ที่ต้องการความทนทาน ใช้งานง่าย และค่าใช้จ่ายต่ำ จึงได้เดินหน้าโครงการในระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องช่วยฟังที่เหมาะกับชนบท ซึ่งเป็นเครื่องช่วยฟังดิจิทัลแบบกล่อง (PDN-01B) ที่มีการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในคน ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการวิจัยดังกล่าวได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นักวิจัยได้พัฒนาต้นแบบ เครื่องช่วยฟังดิจิทัล P02
แบบพ็อคเกตไทป์ ที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ผู้พิการทางการได้ยิน และผู้ที่มีปัญหาการได้ยินระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ครอบคลุมผู้สูญเสียการได้ยินกว่า 55% ในประเทศไทย โดยตัวเครื่องผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพสูง ผ่านการทดสอบ acoustic ตามมาตรฐานสากล รูปลักษณ์ภายนอกที่ทันสมัย ออกแบบให้สามารถพกพาได้สะดวก ไม่เหมือนกับอุปกรณ์สำหรับคนพิการ คงทนและเหมาะกับการใช้งาน ระบบการทำงานของเครื่องช่วยฟังดิจิทัล P02 สามารถปรับแต่งระยะของการรับฟังเสียงได้ตามความเหมาะสมของผู้ใช้ และเป็นไปตามมาตรฐานภายใต้เงื่อนไขการวินิจฉัยของแพทย์ อำนวยความสะดวกให้นักปรับแต่งการได้ยินสามารถปรับแต่งแก้ไขได้โดยผ่านทาง คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ภาษาไทย ช่วยลดระยะเวลาให้นักปรับแต่งการได้ยินได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้ง สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีระบบ Bluetooth พร้อมเพิ่มเทคนิคผสมเสียงสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มคุณภาพการได้ยิน ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยระบบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่สามารถประจุไฟใหม่ได้ (rechargeable) ช่วยลดความสิ้นเปลืองในการเปลี่ยนแบตเตอรี่
ทั้งนี้ เครื่องช่วยฟังที่พัฒนาขึ้นยังได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพด้าน acoustic โดยเครื่องวิเคราะห์เครื่องช่วยฟัง (hearing aid analyzer) ประสิทธิภาพสูง และซอฟต์แวร์มาตรฐาน ตลอดจนการวัดประสิทธิภาพด้วยตู้ไร้เสียงสะท้อน (anechoic box) และ 2-cc coupler ซึ่งใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องทุกรุ่นที่ออกแบบจากการวิจัย นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ทดสอบเครื่องช่วยฟังดิจิทัล P02 ตามมาตรฐานสากล โดยทดสอบประสิทธิภาพของเสียง acoustic IEC 60118-7. Hearing aids. Part 7: Measurement of performance characteristics of hearing aids for quality inspection for delivery purposes. และการเข้ากันได้ของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า IEC 60118-13. Hearing aids - Part 13: Electromagnetic compatibility (EMC). รวมถึง การทดสอบประเมินการใช้งานจากผู้ป่วยจริงตามหลักวิชาการ เนื่องจากเครื่องช่วยฟังเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทีมวิจัยจึงได้ร่วมกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาโสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการทดสอบทางคลินิกระยะยาว โดยทดสอบประเมินความพึงพอใจ ตามแบบ Abbreviated Profit of Hearing Aid Benefits (APHAB) และทดสอบความคงทนของคุณภาพจากการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการทดสอบการขยายเสียงหลังการใช้งานต่อเนื่อง เป็นเวลา 1 ปี พบว่า ตัวเครื่องยังคงความสามารถในการถูกโปรแกรมซ้ำ ความคงทนของอุปกรณ์ และคุณลักษณะ โดยไม่มีส่วนใดชำรุด นอกจากนี้อาสาสมัครยังให้ความพึงพอใจในการใช้งาน โดยกลุ่มผู้ใช้งานมีความพึงพอใจสูง ความสามารถ ด้านฮาร์ดแวร์มีความเสถียร ตัดเสียงรบกวนได้ดี มีกำลังขยายเสียงถึง 125 เดซิเบล คุณภาพเทียบเท่าเครื่องช่วยฟังนำเข้าจากยุโรป แต่ราคาต่ำกว่า 20-25%
ขยายผลเพื่อผู้พิการ
ความสำเร็จดังกล่าว นำมาสู่ขั้นตอนการขยายผล โดยทีมวิจัยได้ร่วมกับบริษัทเอกชนพัฒนาต่อยอดจากเครื่องต้นแบบ เป็นเครื่องที่สามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ จากการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก และการขึ้นรูปอุปกรณ์ห่อหุ้มพลาสติก ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ให้สามารถผลิตเครื่องช่วยฟังดิจิทัลที่ได้มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ โดยมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้วิจัยด้านการตลาด และจัด จำหน่ายสินค้า โครงการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยการได้ยินระดับอุตสาหกรรม เป็นโครงการต่อเนื่องจากโพัฒนาเทคโนโลยีการได้ยิน ในระยะที่ 3 เพื่อต่อยอดและส่งมอบเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังดิจิทัล สู่ภาคอุตสาหกรรมและสังคมแบบยั่งยืน ที่เน้นการต่อยอดเทคโนโลยีที่มีให้มีความเหมาะสม และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกเข้าสู่ตลาดได้จริง ปวรินทร์ หะริณสุต ผู้บริหารบริษัท ไอเมด ลาบอราทอรี่ บอกว่า งานวิจัยของไทยมีศักยภาพสูง ทำให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์จะเคยเป็นของนำเข้า สามารถผลิตได้ด้วยฝีมือคนไทย เป็นนวัตกรรมที่มีโอกาสทางการตลาดสูง สามารถผลิตและจำหน่ายในราคาที่ผู้ใช้สามารถจ่ายได้ ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาด้านการได้ยิน สามารถใช้งานได้ในวงกว้าง ด้วยราคาต่อเครื่องที่ ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง สามารถเบิกจ่ายได้ในระบบประกันสังคม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเครื่องช่วยฟังที่ราคาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นเครื่องในระบบอนาล็อกที่มีความคมชัดของเสียงไม่ละเอียดเท่าเครื่อง ช่วยฟังแบบดิจิทัล ทำให้ความต้องการเครื่องช่วยฟังดิจิทัลมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปวรินทร์ ยอมรับว่า ความยากของการนำงานวิจัยมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ คือ การเพิ่มกำลังการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรม รวมไปถึงการนำข้อมูลทางการตลาดมาใช้เป็นโจทย์การวิจัยเพื่อให้ได้ผลงานที่ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้จริง แต่ความสำเร็จจากขั้นตอนทดสอบร่วมกับอาสาสมัคร ทำให้มั่นใจว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้มีศักยภาพทางการตลาดสูง โดยหลังจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ปรับแพ็กเกจให้ถูกใจผู้ใช้ และขอใบรับรองมาตรฐานทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถวางขายเชิงพาณิชย์ได้ในต้นปี 2556 “เครื่องช่วยฟังดิจิทัล P02 ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเครื่องเล่น MP3 ผู้ใช้งานจึงไม่ต้องกังวลว่าจะโดนมองเป็นคนพิการ อีกทั้งสามารถใช้ร่วมกับถ่านแบบชาร์จ จึงลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 10 เท่า” ผู้บริหารบริษัท ไอเมด ลาบอราทอรี่ กล่าวย้ำ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีในก้าวต่อไปยังคงไม่หยุดนิ่ง โดยจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการออกแบบรูปลักษณ์ของตัวเครื่องให้ดูดี น่าใช้ สีสันสดใส ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่อยู่ภายในต้องพัฒนาให้ใช้งานได้ง่าย เข้าถึงความต้องการของผู้ใช้ เพื่อเพิ่มทางเลือกที่ในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูง แต่ราคาประหยัด นอกจากนี้ ทีมวิจัยมีแผนจะพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องช่วงฟังอย่างต่อเนื่อง และถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังเข้าสู่ตลาดให้ได้ไม่น้อยกว่าสองรุ่น รวมถึงออกแบบและพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ Assistive Listening System (ALS) ระดับภาคสนามสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านการได้ยิน โดยออกแบบให้เหมาะกับการใช้ในโรงเรียน (School ALS) และ งานทางด้านความบันเทิงส่วนบุคคล (Personal ALS/ACC-P03)
“งานวิจัยเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนาสินค้าทางการ แพทย์ ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่จะสร้างเทคโนโลยีของตนเองโดยไม่ต้องไปพึ่งพอการ นำเข้าจากต่างประเทศ” โครงการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยการได้ยินระดับอุตสาหกรรม เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของ นักวิจัยที่ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งหวังให้เกิดทางเลือกแก่การบริการด้านสุขภาพของคนไทยอย่างยั่งยืนต่อ ไป โดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรเพื่อสังคมที่ไม่หวังผลกำไร เช่น มูลนิธิ หูคอจมูกชนบท และราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิก ในการร่วมกันศึกษาและผลิตอุปกรณ์ราคาประหยัด ที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการตามสิทธิของ ตนได้
ภาพความสำเร็จของการพัฒนาเครื่องช่วยฟังดิจิทัลรุ่น P02 ผลผลิตจากการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ช่วยการได้ยินระดับอุตสาหกรรม ที่พร้อมต่อยอดในเชิงพานิชย์ ช่วยให้คนไทยมีทางเลือกในการใช้งานอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังดิจิทัลประสิทธิภาพ สูง มีสภาพการใช้งานที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทย และที่สำคัญสามารถผลิตได้เองในประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีนำเข้าอย่างที่ผ่านมา

Lab
สถาบันวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (REAT)

บทความที่ได้รับความนิยม